วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธรรม(ชาติ)ของมนุษย์กับเทคโนโลยี ICT









ธรรม(ชาติ)ของมนุษย์กับเทคโนโลยี ICT Print


Friday, 29 January 2010 21:09


มนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งต้องอาศัยพึ่งพากัน การติดต่อสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เทคโนโลยีที่เข้ามาเสริมด้านการสื่อสารเพื่อตอบสนองปัจจัยพื้นฐานหรือเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ด้านนี้จึงกลายเป็นที่ต้องการ(และทำรายได้)อย่างมากหรือกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตยุคนี้ ตัวอย่างเช่น โทรศํพท์มือถือที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับฟังระยะไกล เทคโนโลยีนี้พัฒนาจากสิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ขาดไม่ได้คืออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีวิวัฒนาการตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น ขยายบริบทของการสื่อสารให้ครอบคลุมทั้งโลกและหลอมรวมสื่อทุกประเภทเข้าด้วยกัน


นอกจากความต้องการด้านการสื่อสารแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศก็เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมากมายดังจะเห็นได้จากบริการของธนาคารที่เป็น Automation ด้วยตู้อัตโนมัติต่างๆหรือ การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มบริการมากขึ้นทุกวัน


คำถามที่ผู้วางนโยบายต้องการทราบคือในอนาคตวิถีชีวิตกับเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีก คำตอบนี้หาได้จากการศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในอดีตจนถึงปัจจุบัน แนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคต และความต้องการของมนุษย์


อนึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปอาทิความเร็วของการสื่อสารไร้สายยุค 4G แต่สุดท้ายก็ต้องนำมาประยุกต์เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์อยู่ดี ในบทความนี้จะใช้ความต้องการของมนุษย์เป็นตัวหลักในการให้โจทย์ว่าเทคโนโลยีในอนาคตควรจะต้องเป็นอย่างไร


ความต้องการของมนุษย์ตามแนวความคิดของมาสโลว์ (Abraham Maslow นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา) เขาได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้นเรียงตามลำดับ ดังนี้


ขั้นที่ 1 ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) คือความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ถือเป็นความต้องการที่มีอำนาจมากที่สุดและสังเกตได้ชัดที่สุด ในส่วนของเทคโนโลยี ICT ที่ตอบสนองความต้องการในขั้นนี้จะเป็นในทางอ้อม เพราะตัวสารสนเทศกับการสื่อสารไม่เป็นปัจจัยโดยตรงที่ร่างกายต้องการ แต่เราก็อาศัย ICT เพื่อแสวงหาปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้เช่น เราสั่งอาหารทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต


ขั้นที่ 2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety and Security Needs) คือความต้องการที่จะมีชีวิต


ที่มั่นคง ปลอดภัย สำหรับเทคโนโลยี ICT มีส่วนอย่างมากในด้านนี้เพราะข้อมูลสารสนเทศเองก็ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ความปลอดภัยต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัทพ์มือถือ ทั้งในแง่สุขภาพและความเป็นส่วนตัว เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป ความมั่นคงปลอดภัยก็จำเป็นต้องก้าวให้ทัน เพื่ออุดช่องโหว่หรือป้องกันการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด อย่างเช่น virus/worm ก็เกิดมาแพร่ทางอินเทอร์เน็ต Anti-virus ก็ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แนวคิดของ Virtualization ก็กลับมาเพื่อแยกทรัพยากรระดับล่างออกจากผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้ได้ทรัพยากรเสมือนและไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยในทรัพยากรจริง นอกจากนี้เทคโนโลยียังเข้ามามีบทบาทด้านความปลอดภัยต่อร่ายกายโดยตรงเช่น การขับขี่รถที่มีระบบแจ้งเตือนอุบัติเหตุ ระบบช่วยในการมองเห็นในที่มืด ระบบ CCTVกันการโจรกรรม เป็นต้น ในเรื่องของมาตรการ นโยบายและการกำกับก็มีบทบาทต่อความต้องการด้านนี้ อย่างเช่น ISO/IEC ได้ออกมาตรฐาน ISO/IEC 27001 Information Security Management มากำกับหน่วยงานเพื่อรักษาความมั่งคงปลอดภัยให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับเรื่องกระแสการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ลึกๆแล้วก็เป็นความต้องการความมั่่นคงปลอดภัย Green IT จึงกลายเป็นประเด็นที่ Gartner จัดไว้เป็น top 10 strategic technologies สำหรับปี 2009 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวัสดุของผลิตภัณฑ์ การทำลาย การประหยัดพลังงาน การลดการปล่อยกาซเรือนกระจก เหล่านี้เกี่ยวพันกับเทคโนโลยี ICT ทั้งสิ้น


ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม (Love and Belonging Needs) มนุษย์เมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มใดก็ต้องการให้ตนเป็นที่รักและยอมรับในกลุ่มที่ตนอยู่ แฟร์ชันของการบริโภคเทคโนโลยีเพื่อไม่ให้ตัวเองตกรุ่น หรือเพื่อให้เข้าสังคมได้ หรือการสร้างกลุ่มเพื่อนฝูง เริ่มตั้งแต่ mail-group, blog, กลุ่มใน Hi5, facebook ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเราต้องการกลุ่ม ต้องการสังกัด ต้องการคนเอาใจใส่ข้อความหรือรูปภาพที่เราโพสท์ลงในเว็บ เทคโนโลยี ICT จะมีพัฒนาการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ Hi-speed Internet หรือ 3G/4G ทำให้เราคุยกันผ่านวิดีโอ ส่งคลิปแทนคำพูดที่ใช้ใน emailยุคเก่า ทำให้เราสื่อความรู้สึกถึงกันได้ ในอนาคตก็น่าจะแบ่งปัน กลิ่น รส หรือสัมผัสได้ หรือแม้แต่การอ่านคลื่นสมอง คลื่นความร้อนเพื่อทำนายอารมณ์และความคิดได้ ก็จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเช่นกัน ในส่วนเทคโนโลยีICT ที่ต้องใช้กับคนหมู่มากนี้ อินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนน้อยลงแต่มีชีวิตอยู่กับหน้าจอหรือโทรศัทพ์เครื่องมือถือ แต่กลับสื่่อสารกับคนได้มากขึ้นพร้อมๆกัน ตัดข้อจำกัดด้านระยะทางออกไป เมื่อขีดจำกัดกลับมาอยู่ที่ความสามารถของเทคโนโลยี ด้วย CPU ที่เร็วขึัน Network ที่เร็วขึ้น Storage ที่มากขึ้น และราคาที่ถูกลงทำให้การบริการคนหมู่มากทั้ง HaaS, IaaS, PaaS และ SaaS (Hardware, Infrastructure, Platform, Software as a service) ผ่าน Cloud computing อุบัติขึ้นมา อนึ่ง Cloud computing จะเป็นประโยขน์อย่างมากต่อหน่วยงานในการลดภาระ infrastructure หรือบริการที่ไม่เป็นความลับและสามารถพึ่งพา Cloud computing ภายนอกได้ หรือหากองค์กรมีขนาดใหญ่มากก็พัฒนา Internal Cloud computing ขึ้นภายในองค์กรได้เช่นกัน


ขั้นที่ 4 ความต้องการได้ รับการยกย่องจากผู้อื่น (Self -Esteem Needs) เป็นความต้องการในลำดับต่อมา ซึ่งความต้องการในชั้นนี้ถ้าได้รับจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจใจตนเอง แฟร์ชันของเทคโนโลยีก็จัดอยู่ในข้อนี้ การที่คนเราเปลี่ยนมือถือทั้งที่ยังใช้ได้อยู่ หรือมีมือถือที่มีฟังก์ชันเกินความต้องการ แต่เนื่องจากเราต้องการได้รับการยกย่อง(รวมทั้งยอมรับ)จากผู้อื่น เช่นเดียวกันกับการ share รูปภาพใน Social network เพื่อให้คนวิจารณ์ ก็คงหวังจะได้รับคำชมเชยเช่นกัน เทคโนโลยี ICT ก็นำข้อนี้มาพัฒนาApplication ได้หลากหลาย การเล่นเกมส์ออนไลน์ การสร้าง Blog ของตัวเอง การเล่น twitter เพื่อสร้างอำนาจกับฐานจำนวนผู้ตามให้สูงขึ้นก็เพื่อการยกย่องเช่นกัน


ขึ้นที่ 5 ความต้องการในการเข้าใจและรู้จักตนเอง (Self-Actualization Needs) เป็นความต้องการชั้นสูง


ของมนุษย์ ซึ่งน้อยคนที่จะประสบได้ถึงขั้นนี้ Maslow อธิบาย ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ว่าเป็นความปรารถนาในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งบุคคลสามารถจะได้รับอย่างเหมาะสม บุคคลที่ประสบผลสำเร็จในขั้นสูงสุดนี้จะใช้พลังอย่างเต็มที่ในสิ่งที่ท้าทายความสามารถและศักยภาพของเขาให้บรรลุถึงจุดสูงสุด ของศักยภาพ เช่น นักดนตรีก็ต้องใช้ความสามารถทางด้านดนตรี ศิลปินก็จะต้อง วาดรูป สำหรับงานของโปรแกรมเมอร์ก็มีช่องทางของ Opensourceที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั่วไปแสดงความสามารถของตนเองด้าน ICTออกมา นอกจากนี้ API ต่างๆ เช่น Twitter API ก็มีส่วนช่วยผลักดันความต้องการข้อนี้ได้อย่างมาก แนวโน้มของการพัฒนาจึงออกมาในแนวการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมา "ต่อยอด" แทนการพัฒนาเองคิดเองทั้งหมดซึ่งจะสู้การลงแขกช่วยกันต่อยอดไม่ได้


นอกจากความต้องการทั้ง 5 ของมนุษย์ตามปรัชญาของ Maslow นี้แล้วยังมีอีกสองความต้องการระดับสูงที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความเจริญได้แก่


ความต้องการรู้และเข้าใจ หลายครั้งที่เราต้องพึ่ง Search engine หรือ Wikipedia เพื่อค้นคว้าวิจัย ตอบสนองความอยากรู้อย่างรวดเร็ว การตั้งกระทู้ถามใน pantip.com ก็เป็นการถามความเห็นหรือประสบการณ์ตรงจากสังคมผู้สนใจในเรื่องเดียวกัน การเรียนการสอนทางไกล การเฝ้าติดตามข่าวผ่านRSS feed เพื่อให้รู้ทันการณ์ เพื่อดูผลกีฬา การดู Review product จาก youtube.com เพื่อการตัดสินใจ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี ICT มีบทบาทมากในความต้องการข้อนี้


ความต้องการสุนทรีย์ ความซาบซึ้งในศิลปะและดนตรี(ภาพยนต์) เทคโนโลยี ICT มีบทบาทตั้งแต่การค้นคว้า การสร้างแรงบันดาลใจ การสร้างผลงาน การนำเสนอ การวิจารณ์ ในอนาคตหากเทคโนโลยีICT พัฒนาก้าวไปก็จะช่วยตอบสนองความต้องการนี้ได้ดีขึ้น เช่น ความคมชัดของจอภาพ ความจุของ Blu-ray (50GB สำหรับ double layer disc) ที่จะมาแทนที่ DVD เป็นต้น


ในเรื่องของความต้องการของมนุษย์อาจจะศึกษาจากบริบทของธรรมะในพุทธศาสนาหรือทฤษฎีของเมอร์เรย์(Murray)ได้เช่นกัน ในทางพุทธศาสนา กล่าวถึง ความต้องการของมนุษย์ หรือความอยากซึ่งเรียกว่า กิเลส มีอยู่ 3 อย่าง คือ ( พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต , 2538: 67 - 70) 



กามตัณหา คือ ความอยากในกามคุณทั้ง 5 คือ ความอยากหรือปรารถนาในสิ่งน่ารักใคร่พอใจ ซึ่งอาจเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มิใช่หมายถึงความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ในข้อนี้เทียบเคียงได้กับความต้องการในข้อที่1 ของ Maslow สิ่งนี้เป็นความต้องการที่เทคโนโลยี ICT สนองความต้องการได้ดีดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด เทคโนโลยีก็จะถูกจับมาพัฒนาสนองความต้องการนี้ไม่สิ้นสุดเช่นกัน



ภวตัณหา คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากได้
 ซึ่งเทียบได้กับความต้องการตั้งแต่ข้อ 2 เป็นต้นไปของ Maslow


วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้
 ข้อนี้เป็นข้อที่น่าทึ่งในหลักธรรม และเป็นความท้าทายของนักพัฒนาเทคโนโลยี ICTอย่างยิ่งว่าจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างไร พุทธศาสนาสอนให้เราคิดให้เป็นหรือรู้จักคิด(โยนิโสมนสิการ) แทนที่จะปล่อยให้เทคโนโลยีดึงเราไปจมติดอยู่กับข้อ 1 และข้อ 2


อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่อยากให้ข้างไปคือการเทียบความต้องการกับอิฐารมณ์ 4 คือ (เสถียร เหลืองอร่าม, 2519 : 21) 
1. ลาภ ซึ่งได้แก่ ทรัพย์ ศฤงคาร(สิ่งที่ทำให้เกิดความรัก, ความใคร่) เงินทอง
 2. ยศ ได้แก่ ตำแหน่ง เหรียญตรา ปริญญา วิทยฐานะ 
3. สรรเสริญ ได้แก่ ความเคารพ นับถือจากผู้อื่น
 4. ความสุข ทั้งในร่างกายและจิตใจ


กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่าความต้องการจะหนีไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ก็อยู่ที่การรู้จักคิดนำเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ หากเราวิเคราะห์ความต้องการได้ถ่องแท้และรู้ทันเทคโนโลยีก็เป็นไปได้ว่าเราจะคาดการณ์ความเป็นไปของ ICT ในอนาคตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น


ภาสกร ประถมบุตร


ที่มา


http://blogs.gartner.com/david_cearley/2008/10/14/gartner’s-top-10-strategic-technologies-for-2009/


http://th.wikipedia.org/wiki/อับราฮัม_มาสโลว์


http://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Human_Needs.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น